Web Design ความหมายคืออะไร?

Web Design ความหมายคืออะไร?

 

คนส่วนใหญ่คิดว่า Design คือการทำให้สวย

 

       คำว่า “Design” หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ออกแบบ” ไม่ได้มีความหมายแค่ในเชิงความสวยงามเท่านั้นนะครับ เพื่อนๆ คงคุ้นเคยกันดีกับภาพที่ Project Manager หรือทาง Business บอกกับทีมมาว่าอยากได้อะไร แล้วส่งต่อไปให้ Designer ออกแบบมา Designer ก็เข้าเว็บเพื่อดู Trends ที่กำลังมาแรงหรือน่าสนใจในขณะนั้น หรืออาจไปดูว่าคู่แข่ง หรือบริษัทที่เค้าดำเนินกิจการคล้ายๆ เรา เค้าออกแบบกันยังไง แล้วก็เอามาปรับนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ส่งงาน เป็นอันเสร็จหน้าที่ของ Designer แต่นี่คือสิ่งที่ไม่ถูก

 

       สมมติว่าคุณต้องการจะจีบผู้หญิงคนหนึ่ง ด้วยหน้าตาและรูปร่างที่ดูดี บวกกับบุคลิกที่น่าเชื่อถือ ทำให้ผู้หญิงคนนั้น ยอมเปิดใจที่จะคบกับคุณ แต่เมื่อคบกันจริงๆ เค้ากลับพบว่า คุณไม่มีเวลาให้เค้า หรือมีฐานะไม่มั่นคงพอที่จะดูแลชีวิตเค้าได้ เค้าจึงตัดสินใจทิ้งคุณไป

 

       การ “ออกแบบ” ก็เหมือนกันครับ ความสวยงามเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการออกแบบ ที่จะช่วยเสริมให้สิ่งที่คุณได้ออกแบบ มีความน่าสนใจมากขึ้นในสายตาของ Users แต่นั่นจะไม่มีความหมายเลย ถ้ามันไม่ได้ “ตอบโจทย์” หรือมันไม่ใช่สิ่งที่ Users ต้องการจริงๆ

 

 

 

Web Design

  

 

การออกแบบคือการแก้ปัญหา

        ทำไมล่ะ? ทุกๆ อย่างบนโลกใบนี้ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนได้ใช้ ล้วนต้องมีการ “ออกแบบ” ครับ เนื่องจากเมื่อใดที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อนั้นย่อมเกิดปัญหา การออกแบบ มีไว้เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้น เพื่อให้ Users พึงพอใจมากที่สุดเมื่อได้ใช้งาน

 

       เคยถามตัวเองมั้ยครับ? ว่าทำไมช้อนมันต้องมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นช้อนชา ช้อนโต๊ะ ช้อนคาว ฯลฯ ทำไมถึงไม่มีช้อนแค่แบบเดียวล่ะ? คำตอบง่ายๆ ครับ คือไม่มีช้อนไหนในโลกที่สามารถใช้งานได้ดีไปซะทุกอย่าง ถ้าจะเอาไว้ทานชาหรือกาแฟ ช้อนชาคงทำได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราจะเอาไปทานซุป หรือทานข้าว คงจะลำบากน่าดู หรือถ้าเราจะเอาช้อนคาวที่เอาไว้ทานข้าวมาคนกาแฟ ก็คงไม่เหมาะจริงมั้ยครับ ในการออกแบบช้อน นักออกแบบ(Designer) จึงต้องดูว่าช้อนนี้มีไว้ทำอะไร แล้วทำการออกแบบให้ Users สามารถทำสิ่งนั้นได้อย่างพึงพอใจมากที่สุด (ใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพ สวยงาม ฯลฯ)

 

       การออกแบบเว็บไซต์ก็เหมือนกันครับ เราต้องดูว่าปัญหาคืออะไร จากนั้นให้เราหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น เมื่อแก้ได้แล้ว เราค่อยทำให้มันสวยงาม น่าใช้ครับ จำไว้เสมอว่า “คุณอาจทำเว็บได้สวยที่สุด แต่ถ้ามันไม่ได้ตอบโจทย์ของ Users มันก็ถือว่าเป็นเว็บที่แย่อยู่ดี”

 

ลูกค้าไม่ได้ฉลาดไปกว่าเรา

        ในการทำงานกับลูกค้า คนส่วนใหญ่มักถามลูกค้าว่าอยากได้เว็บไซต์แบบไหน หรือถามว่าเว็บไหนที่อยากให้เราดูเป็นตัวอย่าง พอได้เว็บมาแล้ว ก็ทำเว็บให้ออกมาแนวเดียวกับเว็บที่ลูกค้าเลือกมา แต่นี่คือสิ่งที่คุณไม่ควรทำ

 

       อย่าลืมว่าการออกแบบคือการแก้ปัญหา การถามลูกค้าว่าอยากได้เว็บเหมือนเว็บไหน นั่นคือการให้ลูกค้าออกแบบซะเอง แล้วคุณเป็นใคร แค่กรรมกรงั้นหรือ? จำไว้เสมอว่าปัญหาเป็นของใครของมัน วิธีแก้นี้อาจเวิร์คกับเว็บนี้ แต่กับอีกเว็บนึงอาจไม่เวิร์คก็ได้ เราไม่สามารถใช้ Solution เดียวกัน กับทุกๆ ปัญหาได้ ถึงแม้ว่าเว็บนั้นจะทำธุรกิจแบบเดียวหรือคล้ายๆ กับลูกค้าก็ตาม แต่คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ปัญหาของเว็บนั้นเป็นปัญหาเดียวกับลูกค้าของคุณ

 

       บ่อยครั้งที่ลูกค้าของเรา เอาแต่สนใจว่าคู่แข่งของตัวเองกำลังทำอะไรอยู่แล้ววิ่งไล่ตาม โดยที่ไม่ดูเลยว่าสิ่งนั้นมันโอเคกับธุรกิจของตัวเองมั้ย หน้าที่ของนักออกแบบอย่างเราคือ แนะนำสิ่งที่ควรทำให้กับลูกค้าครับ ให้เราศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร พยายามดึงจุดแข็งของลูกค้าออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ถ้าลูกค้ายังไม่มีจุดแข็ง ให้เราสร้างขึ้นมาครับ เมื่อเราพบปัญหาแล้ว ให้หาวิธีแก้ปัญหานั้น อาจลองทำ Test ขึ้นมา ว่าถ้าแก้ด้วยวิธีนี้มันโอเคมั้ย ถ้าไม่โอเค งั้นลองอีกวิธี ด้วยเหตุนี้เอง การประชุมครั้งแรกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ คุยกับลูกค้าให้มาก หาปัญหาให้เจอ ลิสต์มาให้หมดว่ามีอะไรบ้าง แล้วค่อยหาวิธีแก้ที่เหมาะสมกับลูกค้าในตอนนั้นมากที่สุดครับ

 

       อย่างไรก็ตาม การถามความเห็นลูกค้าก็สามารถทำได้ครับ แต่ให้เราถามเกี่ยวกับ look & feel ว่าอยากได้ประมาณไหน ซึ่งในส่วนนี้ เราจะนำมาใช้หลังจากที่เราแก้ปัญหาต่างๆ ได้หมดแล้วครับ

 

อย่าเดินตามรอยผู้นำ

        Designer หรือนักออกแบบส่วนใหญ่ เมื่อมีเวลาว่างก็มักจะเข้าไปดูเว็บไซต์ที่รวบรวมงาน Design สวยๆ หรืออะไรที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์ แต่นี่คือสิ่งที่นักออกแบบควรระวังให้มากที่สุด ที่บอกต้องระวังนั้นเป็นเพราะว่า แต่ละงานออกแบบนั้นมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ปัญหาของเค้า อาจไม่ใช่ปัญหาของเรา ขอย้ำอีกทีว่าไม่มี Solution ไหนที่จะเวิร์คในทุกสถานการณ์ เราต้องเลือก Solution ให้เหมาะสมกับงานของเราครับ

 

       ปัญหาต่างๆ ของเว็บไซต์ ส่วนใหญ่จะมีเว็บไซต์ที่เคยแก้เอาไว้แล้วครับ ซึ่งในบรรดาเว็บไซต์เหล่านั้น มักจะมีผู้นำในการแก้ปัญหาเสมอ คำว่า “ผู้นำ” ในทีนี้ ผมหมายถึงเว็บไซต์ที่มีการแก้ปัญหาที่ดี จนใครๆ ก็ทำตาม และเห็นพ้องต้องกันว่านี่เป็น Solution ที่เป็นมาตรฐาน แล้วถ้าสมมติเราพิจารณาแล้วว่า ปัญหาของเว็บไซต์เรา มีคนเคยแก้ไว้แล้วล่ะ เราจะทำตามผู้นำไปเลยดีมั้ย? ง่ายดี ไม่ต้องคิดมาก ใช้งานได้ดีด้วย ผมตอบได้เลยครับว่าไม่ดี

 

       ถ้าเราคิดจะแก้ปัญหา โดยการเข้าไปดูชาวบ้านแล้วทำตาม ผมจะบอกว่าเด็กจบใหม่ก็ทำได้ครับ อย่าดูถูกตัวเองขนาดนั้น ถ้าทุกคนบนโลกนี้ คิดแต่จะเดินตามผู้นำ คำว่า “ผู้นำ” คงไม่เกิดครับ หากคิดจะเป็นผู้นำ คุณต้องหา Solution ในแบบของคุณเอง ที่สร้างสรรค์ และไม่เหมือนใคร ซึ่งคุณจะไม่สามารถหาสิ่งเหล่านี้ได้เลย จากการดูผู้นำ หากคุณคิดจะออกแบบ os คุณอย่าดู ios หากคุณคิดจะออกแบบ social network คุณอย่าดู facebook

 

       จะบ้าหรือเปล่า? ไม่ดูผู้นำเลย แล้วจะไปรอดหรอ? รอดสิครับ ให้เราหาปัญหาของเราให้เจอ แล้วแก้ให้ตรงจุดครับ ไม่ต้องสนใจว่าชาวบ้านเค้าจะแก้ยังไง ลองมองดูเว็บไซต์ทุกวันนี้ครับ เว็บดังๆ ล้วนมีจุดขายของตัวเอง บางเว็บดังเพราะทำในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน(เพราะคิดในสิ่งที่คนอื่นยังไม่เคยคิด) บางเว็บดังเพราะทำสิ่งที่มีคนเคยทำมาแล้ว แต่ทำให้ดีกว่า(เพราะมีวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ ไม่เหมือนใคร) ผมกลับมองว่าเว็บที่เอาแต่ทำตามผู้นำต่างหากครับ ที่จะไปไม่รอด

 

       ให้เราพยายามแก้ปัญหาในแบบของเราเองครับ พยายามหาจุดขายให้ได้ แต่การจะสร้างจุดขายนั้นต้องระวังครับ อย่าพยายามแต่จะทำให้แปลก ให้เราแค่คำนึงถึงก็พอ ว่าถ้าเราทำสิ่งที่มีคนเคยทำมาก่อนแล้ว มันก็เท่านั้น งานจะได้ออกมาเป็นธรรมชาติมากที่สุดครับ

 

       อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าเราจะดูผู้นำไม่ได้เลยซะทีเดียวนะครับ หากคิดจะดูคนอื่น เราต้องระวังครับ ให้ดูที่วิธีการ “คิด” ของเค้า ดูว่าเค้ามีกระบวนการคิดอย่างไรในการแก้ปัญหา อย่าไปดูผลลัพธ์ ว่าเค้าทำอะไร เพราะปัญหาของเราอาจไม่เหมือนของเค้าครับ เตือนตัวเองเสมอว่า เราไม่มีทางสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือหาแรงบันดาลใจได้จากการดูผลงานของคนอื่น อ่าว! แล้วเราจะหาแรงบันดาลใจ หรือไอเดียใหม่ๆ ได้จากไหน?

 

Inspiration อยู่รอบตัวคุณ

       นั้นก็ผิด นี่ก็ไม่ให้ทำ แล้วจะหาแรงบันดาลใจจากไหน? ตัวคุณเองไงครับ คุณลองนึกดู คนที่เค้าเป็นผู้นำ ก่อนที่เค้าจะสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เค้ามีตัวอย่างให้ดูมั้ย? เค้าเลือกที่จะคิดเอง เป็นตัวของตัวเอง ความคิดแบบนี้แหละ ที่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา

 

       หากคุณคิดจะหาแรงบันดาลใจ หรือไอเดียแปลกใหม่ ไม่ต้องไปหาที่ไหนครับ มันอยู่รอบๆ ตัวคุณนี่เอง เพราะตลอดเวลาที่คุณใช้ชีวิต แน่นอนคุณย่อมเจอกับปัญหาต่างๆ มากมาย ทั้งปัญหาของตัวคุณเอง และปัญหาของคนอื่นที่คุณได้พบเห็น สิ่งเหล่านี้แหละ ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ อย่าลืมว่าโลกอยู่ข้างนอก ไม่ใช่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์

 

       ขอทานบางคน ได้เงินจากผู้ใจบุญมากมาย บางคนมองเห็นแล้วก็เดินผ่านไป บางคนสงสัยว่าขอทานคนนี้มีดีอะไร แต่แล้วก็เดินผ่านไป แต่บางคนหยุดยืนดูขอทานคนนั้น แล้วคิดหาเหตุผลว่า ทำไมขอทานคนนี้ ถึงได้เงินบริจาคมากมาย เค้าทำได้อย่างไร เมื่อเค้าสังเกตขอทานคนนั้น เค้าก็พบว่าขอทานคนนี้ไม่ได้นั่งรอรับเงินเฉยๆ แต่กลับใช้วิธีร้องเพลงให้คนฟัง ซึ่งตรงจุดนี้ ที่ทำให้คนที่เดินผ่านไปมา ชื่นชมในตัวขอทานผู้นี้ และตัดสินใจบริจาคเงินให้แก่ขอทานในที่สุด

 

       บางคนอาจสงสัยว่าแล้วการหาแรงบันดาลใจ มันไปเกี่ยวอะไรกับเรื่องของขอทานที่ผมได้เล่ามา? เกี่ยวสิครับ เพราะแรงบันดาลใจ มักเกิดจากสิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของเรานี่แหละ เพียงแต่เราต้องเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต และมีจิตนาการ ดูอย่าง YouTube สิครับ ใครจะไปเชื่อว่าการที่คน 2 คน อยากจะสร้างอะไรสักอย่างเพื่อเอาไว้สำหรับส่งไฟล์ Video ไปให้อีกฝ่ายดู จะกลายมาเป็นเว็บไซต์ชื่อดังขนาดนี้ อีกกรณีก็คือเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง facebook ครับ ซึ่งถือกำเนิดจากการสร้างเว็บไซต์เล็กๆ ภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้เพื่อนนักศึกษาด้วยกัน ร่วมกันโหวตว่านักศึกษาคนไหนเป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดในมหาวิทยาลัย จะเห็นว่าแรงบันดาลใจ ล้วนอยู่รอบๆ ตัวเรา เพียงแต่ว่าคุณจะค้นพบมัน หรือคุณจะมองข้ามมันไป

 

       อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นเกี่ยวกับเรื่องของแรงบันดาลใจได้ชัดเจนก็คือเอฟเฟกต์ Parallax ครับ ทุกคนเกิดมาล้วนต้องเคยพบกับ Parallax ซึ่งก็คือการที่เรามองวัตถุต่างๆ ในขณะที่เราเคลื่อนที่ เราจะพบว่าวัตถุที่อยู่ใกล้กับเรามากกว่าจะดูเหมือนมีการเคลื่อนที่เร็วกว่าวัตุถุที่อยู่ห่างไกลออกไป  ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เวลาเรานั่งอยู่บนรถแล้วมองออกไปนอกหน้าต่าง เราจะพบว่าตึกรามบ้านช่องที่อยู่ข้างทางเคลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ต้นไม้ที่อยู่ไกลออกไปกลับดูค่อยๆ ห่างเราไปอย่างช้าๆ ส่วนดวงอาทิตย์ยิ่งแล้วใหญ่ แทบจะไม่ขยับเลย หลักการนี้ได้ถูกนำมาใช้กับการออกแบบเว็บไซต์เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับเนื้อหาครับ จะเห็นว่า Parallax นั้น จริงๆ แล้ว ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการออกแบบเว็บไซต์เลยแม้แต่น้อย แต่มันเป็นสิ่งที่เราพบเห็นอยู่ทุกวัน อยู่ที่ว่าใครจะเอามันมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบเท่านั้นเอง

 

เราทุกคนล้วนเป็น Designer

        ตอนนี้เรารู้แล้วว่าการออกแบบก็คือการแก้ปัญหานั่นเอง ทุกๆ อย่างที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนใช้งาน ล้วนมีปัญหาให้แก้เสมอ พยายามหาสาเหตุของปัญหาให้เจอ แล้วหาวิธีแก้ให้ตรงจุด ความยากมันอยู่ตรงเราจะแก้ปัญหาอย่างไรให้มันสร้างสรรค์และแปลกใหม่ เราจะหาแรงบันดาลใจได้จากที่ไหน? ให้เรามองไปรอบๆ ตัวเรา แรงบันดาลใจจะซ่อนอยู่ในทุกๆ ที่สำหรับคนช่างคิด ช่างสังเกต สุดท้ายแล้ว อย่าดูถูกตัวเอง อย่าคิดว่าตัวเองไม่สามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เพราะสัญชาตญาณของ Designer นั้นอยู่ในตัวของทุกคนบนโลกใบนี้

 

 

 

 

Credit : Siamhtml.com

 2360
ผู้เข้าชม
Follow us
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์